รูปแบบของรายการในปัจจุบัน (แบบที่ 7) ของ เชฟกระทะเหล็ก_ประเทศไทย

ใช้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน

ช่วงเชฟกระทะเหล็ก

เชฟผู้ท้าชิงจะต้องแข่งขันทำอาหารกับเชฟกระทะเหล็กประจำรายการ โดยผู้ท้าชิงมีสิทธิ์เลือกว่าต้องการอยากประลองยุทธ์กับเชฟกระทะเหล็กท่านใด (เชฟกระทะเหล็ก อาหารญี่ปุ่น, เชฟกระทะเหล็ก อาหารตะวันตก แนวอินโนเวทีฟ, เชฟกระทะเหล็ก อาหารจีนร่วมสมัย, เชฟกระะทะเหล็ก อาหารหวาน, เชฟกระทะเหล็ก อาหารเอเชี่ยนแนวผสมผสาน, เชฟกระทะเหล็ก อาหารตะวันตกแนวผสมผสาน และเชฟกระทะเหล็ก อาหารตะวันตกร่วมสมัย) โดยทั้งสองฝ่ายจะมีวัตถุดิบหลักและจะมีเวลาในการแข่งขัน 60 นาที เป็นตัวกำหนดสำหรับการแข่งขัน เชฟทั้งสองฝ่ายจะต้องรังสรรค์ 5 เมนู ให้เสร็จทันเวลา จากนั้นเมื่อผ่านไป 45 นาที จะมีวัตถุดิบปริศนา (Culinary Curve Ball) ซึ่งเชฟทั้งสองฝ่ายจะต้องนำวัตถุดิบปริศนามาใช้ทำอาหารเป็นวัตถุดิบหลัก 1 เมนูจาก 5 เมนู (มีเพียงเทปวันที่ 11 และ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ใช้กติกาจากรูปแบบรายการแบบที่ 4 คือเชฟทั้งสองฝ่ายจะต้องนำวัตถุดิบปริศนานำมาประกอบการรังสรรค์อย่างน้อย 1 เมนูจาก 5 เมนู) และคณะกรรมการ 4 คน (มีคณะกรรมการเพียง 3 คน จนถึงเทปวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2562) ทำการให้คะแนน ในรูปแบบ Blind Tasting โดยที่คณะกรรมการทั้ง 4 ท่านจะไม่ทราบมาก่อนเลยว่าเมนูอาหารแต่ละจานที่จะได้รับประทานเป็นของเชฟท่านใด เพื่อป้องกันปัญหาการล็อกผล โดยกรรมการทั้งสี่จะเก็บตัวในระหว่างที่เชฟทั้งสองทำการรังสรรค์เมนู และเมื่อเข้าสู่ช่วงการตัดสิน เชฟทั้งสองจะถูกนำไปเก็บตัวและดูการตัดสินผ่านทางจอมอนิเตอร์ และอาหารของเชฟทั้งสองจะถูกเสิร์ฟให้แก่คณะกรรมการทำการตัดสิน โดยจะใช้อักษรย่อว่าเป็นเชฟ A หรือ B ในการแทนตัวเชฟผู้ท้าชิงและเชฟกระทะเหล็ก ซึ่งเกณฑ์การตัดสินคะแนนจะพิจารณาด้านความอร่อย 50 คะแนน, ความคิดสร้างสรรค์เมนู 25 คะแนน, ความคิดสร้างสรรค์ตกแต่งจาน 25 คะแนน และการชูวัตถุดิบหลัก 50 คะแนน